top of page

ปรึกษาจิตแพทย์
Psychiatrist

โรคซึมเศร้า เป็นโรคทางจิตเวชที่ได้รับความสนใจในยุคปัจจุบันมากขึ้น แต่กระนั้น เมื่อพูดถึงโรคซึมเศร้าก็ยังพบความเข้าใจผิดในแง่ต่างๆ เช่น เป็นเรื่องของความไม่เข้มแข็งของจิตใจ หรือเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดจากความผิดหวัง หรือการสูญเสียมากกว่าที่จะมองเป็นโรค
 

ในความเป็นจริง เป็นเรื่องปกติที่มนุษย์เราทุกคนจะมีอารมณ์เศร้า เมื่อมีเรื่องที่ทำให้ต้องผิดหวัง เสียใจ หรือก็เป็นเรื่องปกติเช่นกัน ที่มนุษย์จะเกิดความรู้สึกเครียดเมื่อต้องเจอกับภาวะกดดันต่างๆ อารมณ์เครียด เศร้า วิตกกังวลเหล่านั้น หากเกิดขึ้นอย่างสมเหตุสมผลและไม่ได้กระทบกับชีวิต หรือความสามารถด้านต่างๆตามปกติของคนผู้นั้น ในทางการแพทย์ก็จะไม่นับว่าเป็นโรค

ถ้าอย่างนั้น โรคซึมเศร้า กับอารมณ์เศร้าตามปกติ แตกต่างกันตรงไหน?
 

เกณฑ์การวินิจฉัยของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน (DSM) ระบุว่า โรคซึมเศร้า ประกอบด้วยอาการดังต่อไปนี้ 5 อาการหรือมากกว่า โดยต้องมีอาการในข้อ 1 หรือ 2 อย่างน้อย 1 ข้อ และต้องมีอาการเป็นอยู่นาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป และต้องมีอาการเหล่านี้อยู่เกือบตลอดเวลา แทบทุกวัน ไม่ใช่เป็นๆ หายๆ เป็นเพียงแค่วันสองวันหายไปแล้วกลับมาเป็นใหม่

1. มีอารมณ์ซึมเศร้าแทบทั้งวัน (ในเด็กและวัยรุ่นอาจเป็นอารมณ์หงุดหงิดก็ได้)

2. ความสนใจหรือความเพลินใจในกิจกรรมต่างๆ แทบทั้งหมดลดลงอย่างมากแทบทั้งวัน

3. น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก หรือมีการเบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมากกว่าปกติ

4. นอนไม่หลับ หรือหลับมากไป

5. กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือเชื่องช้าลง

6. อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง

7. รู้สึกตนเองไร้ค่า

8. สมาธิลดลง ใจลอย หรือลังเลใจไปหมด

9. คิดเรื่องการตาย คิดอยากตาย
 

แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าท่านจะยังไม่ได้มีอาการที่ตรงตามเกณฑ์การวินิจฉัยโรคซึมเศร้า ก็ยังมีโรคอื่นๆที่มีอาการใกล้เคียง หรือภาวะอื่นๆที่สร้างความรู้สึกไม่สบายใจได้เช่นกัน เช่น
 

ภาวะอารมณ์ซึมเศร้าจากการปรับตัวไม่ได้กับปัญหาที่มากระทบ เป็นภาวะที่เกิดจากการปรับตัวไม่ได้กับปัญหาต่างๆ ที่เข้ามากระทบ เช่น ย้ายบ้าน ตกงาน เกษียน เป็นต้น โดยจะพบอาการซึมเศร้าร่วมด้วยได้ แต่มักจะไม่รุนแรง ถ้ามีคนมาพูดคุย ปลอบใจก็จะดีขึ้นบ้าง
 

โรคอารมณ์สองขั้ว โดยอาการเหมือนกับโรคซึมเศร้าอยู่ช่วงหนึ่ง และมีอยู่บางช่วงที่มีอาการออกมาในลักษณะตรงกันข้ามกับอาการซึมเศร้า เช่น อารมณ์ดีเบิกบานมากผิดปกติ พูดมาก ขยันมาก เชื่อมั่นตัวเองมากกว่าปกติ ใช้เงินเปลือง เป็นต้น ซึ่งทางการแพทย์เรียกระยะนี้ว่า ระยะแมเนีย ผู้ที่เป็นโรคอารมณ์สองขั้วบางครั้งจะมีอาการของโรคซึมเศร้า บางครั้งก็มีอาการของภาวะแมเนีย
 

โรควิตกกังวล คือ มีความคิดในทางร้ายเกี่ยวกับเรื่องต่างๆมาก และยับยั้งไม่ได้ หลายครั้งอาจจะพบอาการหายใจไม่อิ่ม ใจสั่น สะดุ้ง ตกใจง่ายร่วมด้วย อาการเบื่ออาหารถึงมีก็เป็นไม่มาก น้ำหนักไม่ลดลงมากเหมือนผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

ซึ่งจะเห็นได้ว่า บางโรค บางภาวะนั้น หากได้รับการดูแลจิตใจจากผู้ที่เข้าใจ มีท่าทีที่เปิดใจยอมรับและไม่ตัดสิน ความไม่สบายใจเหล่านั้นก็จะดีขึ้นได้ โดยอาจไม่จำเป็นต้องกินยารักษาทางจิตเวช

การรักษาโรคซึมเศร้าในรายที่มีอาการไม่มาก แพทย์อาจรักษาด้วยการช่วยเหลือชี้แนะการมองปัญหาต่างๆ ในมุมมองใหม่ แนวทางในการปรับตัว หรือการหาสิ่งที่ช่วยทำให้จิตใจผ่อนคลายความทุกข์ใจลง ร่วมกับการให้ยาแก้ซึมเศร้าหรือยาคลายกังวลเสริมในช่วงที่เห็นว่าจำเป็นเท่านั้น
 

บทความโดย :

แพทย์หญิงบุรนาถ รุ่งลักษมีศรี

จิตแพทย์ โรงพยาบาลนันอา

=========================================

ปรึกษาจิตแพทย์เรื่องปัญหาความเครียด

ซึมเศร้า นอนไม่หลับ

ทุกวันจันทร์

เวลา 18.00 - 22.00 น.

ติดต่อเพื่อนัดหมาย

02 439 5100, 094 505 5454

Line ID : nan-ah-hospital

Get a Quote

This is a Paragraph. Click on "Edit Text" or double click on the text box to start editing the content.

Thanks for submitting!

bottom of page